“ตินิคลิ่ง” ศิลปะการแสดงประเทศฟิลิปปินส์

หน้าแรก ย้อนกลับ “ตินิคลิ่ง” ศิลปะการแสดงประเทศฟิลิปปินส์

“ตินิคลิ่ง” ศิลปะการแสดงประเทศฟิลิปปินส์

 

“ตินิคลิ่ง” ศิลปะการแสดงประเทศฟิลิปปินส์

สุวิมล ละอองพันธ์

 

        ประเทศฟิลิปปินส์ มีศิลปะการแสดง และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ส่วนมากเกิดจากการผสมผสานกันระหว่างชาติตะวันตก เช่น ประเทศสเปน ประเทศอเมริกา และชาติตะวันออก เช่น ประเทศจีน ศิลปะการแสดงของประเทศฟิลิปปินส์มีหลายรูปแบบหนึ่งในนั้น ได้แก่ ตินิคลิ่ง (Tinikling) ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองรูปแบบหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์

         ตินิคลิ่ง หรือ Tinikling มีต้นกำเนิดมาจากการเลียนแบบการเคลื่อนไหวของนกชนิดหนึ่ง ซึ่งก็คือ    นก Tikling ซึ่งมักจะเดิน และกระโดดข้ามกิ่งไม้พร้อมกับหลบหลีกกับดักของชาวสวนที่คอยดักมันด้วยไม้ค้ำที่ทำเป็นรูปร่างคล้ายขา นก Tikling เป็นนกประจำถิ่นพบได้ในหมู่เกาะวิซายัส (Visayas) จัดอยู่ในวงศ์นกอัญชัน (Rallidae) โดยเฉพาะนกอัญชันอกสีเทา (Gallirallus striatus) นกอัญชันลายอกสีน้ำตาล (Gallirallus philippensis) และนกบาร์ทเรล (Gallirallus torquatus) ตินิคลิ่ง (Tininkling) เป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์ โดยเป็นระบำของชนเผ่าพื้นเมืองแถบหมู่เกาะมินดาเนา ตินิคลิ่งนั้นนับเป็นการเต้นรำแบบดั้งเดิมของประเทศฟิลิปปินส์ที่เกิดขึ้นในช่วงประเทศสเปนเป็นเจ้าของอาณานิคม มีการใช้อุปกรณ์ในการเต้นร่วมด้วยนั่นก็คือ ไม้ไผ่ โดยใช้เป็นเครื่องช่วยเคาะให้จังหวะ โดยการตีกระทบไม้ไผ่ทำให้เกิดเสียงประกอบการเต้นรำ

        ตินิคลิ่ง (Tinikling) จะต้องมีทั้งผู้เต้น และผู้ที่นั่งจับไม้ไผ่เคาะจำนวนมากกว่าสองคน ผู้เต้นสามารถเป็นได้ทั้งเพศหญิง และเพศชาย ลักษณะการแสดงเป็นการเต้นแบบก้าวกระโดดใน 5 จังหวะในช่วง 4 จังหวะแรกคู่เต้นรำจะทำการยืนตรงข้ามกัน และในช่วงจังหวะสุดท้ายหรือจังหวะที่ 5 ทั้งคู่จะทำการเต้นรำข้างเดียวกันระหว่างลำไม้ไผ่ 2 ลำ ผู้ที่นั่งจับไม้ไผ่จะมีหน้าที่ในการเคาะไม้ไผ่ทั้งสองกระทบกับพื้น และเคาะลำไม้ไผ่ให้กระทบกันในจังหวะที่เร็วขึ้นจนเกิดเป็นเสียงประกอบการเต้นระบำ การแสดงประเภทนี้นิยมนำมาแสดงในวันชาติฟิลิปปินส์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองอิสรภาพที่ได้รับจากประเทศสเปน เป็นการแสดงถึงความภาคภูมิใจทางวัฒนธรรมของชาวฟิลิปปินส์

        ลักษณะการแต่งกายของผู้เต้นแสดงนั้นเพศหญิงจะสวมใส่กระโปรงยาวบเสื้อสีครีมแขนสั้นจับจีบยกตั้งขึ้นเหนือไหล่คล้ายปีกผีเสื้อ เรียกว่า บาลินตาวัก (balintawak) หรือ patadyong (ปาตาดยอง) ส่วนเพศชายจะสวมใส่กางเกงขายาว และสวมเสื้อที่เรียกว่า บารอง ตากาล็อก (barong Tagalog) เป็นผ้าที่ทำมาจากใยสัปปะรด

        การแสดงตินิคลิ่ง (Tinikling) มีความคล้ายคลึงกับศิลปะการแสดงของชนชาติในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น “เรือมอันเร” หรือ “เขมรกระทบไม้” ของชาวเขมร “แสกเต้นสาก” ของ   ชาวแสก (ชนชาติหนึ่งในกลุ่มภาษาตระกูลไท-ลาวปรากฏอยู่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ภาคกลางของ สปป. ลาว และบางส่วนของภาคกลางเวียดนาม) “ม้าจกคอก” ของชาวไทใหญ่ (ตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง เลยไปถึงลุ่มน้ำสาละวิน อิระวดี และพรหมบุตร) “รำกระทบไม้” ของไทย “ลาว-กระทบไม้” (ของลาว) รวมทั้ง “ติฮัว” หรือ “กะเหรี่ยงกระทบไม้” ของชาวกะเหรี่ยง โดยลักษณะการแสดงนั้นมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เช่น การใช้ไม้ไผ่ประกอบในการเต้นเพื่อเป็นการเคาะจังหวะให้กับการแสดง เป็นต้น แต่ในความคล้ายคลึงกันนั้นยังมีความแตกต่างกันในส่วนของโอกาสในการแสดง เช่น เขมร-กระทบไม้  นิยมเล่นในช่วงสงกรานต์ เพื่อเฉลิมฉลองประเพณีสรงน้ำพระ เล่นกันเพียงปีละครั้งเท่านั้น เดิมเป็นการละเล่นในเชิงพิธีกรรม กะเหรี่ยงกระทบไม้ นิยมเล่นหลังจากว่างเว้นจากงานในไร่นา ผู้หลักผู้ใหญ่จะเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้เต้นรำเกี้ยวพาราสีกัน เป็นต้น

        ทั้งนี้ตินิคลิ่ง (Tinikling) เป็นศิลปะการแสดงที่โดดเด่น และทรงคุณค่าอย่างหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งศิลปะการแสดงนี้เป็นของพื้นเมืองที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์  ปัจจุบันตินิคลิ่งยังมีให้รับชมกันที่ประเทศฟิลิปปินส์ และสานต่อกันไปยังรุ่นสู่รุ่นเพื่อคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่นเหมือนครั้งในอดีต

 

ฐานข้อมูลสังคม-วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (2559). การแสดงพื้นเมืองของประเทศฟิลิปปินส์.                                                        https://bit.ly/3EyhOfP
วิถีวัฒนธรรม ตำนาน ประเพณี. (2561). ตินิคลิ่ง (Tinikling) ประเทศฟิลิปปินส์. https://shorturl.asia/xLyKB
ศิลปวัฒนธรรม. (2564). รำ “กระทบไม้” กะเหรี่ยงกระทบไม้มาก่อน ลาวกระทบทีหลัง. https://bit.ly/3YW2TEd
ศิลป์กรรมและวัฒนธรรม ไทย-ฟิลิปปินส์. (มปป.). ชุดแต่งกายประจำชาติฟิลิปปินส์. https://shorturl.asia/avwRx
Asean-info.com. (มปป.). ฟิลิปปินส์ - ศิลปะ/ วัฒนธรรม / ประเพณี. https://bit.ly/3Ezl0I3
Kollectivehustle. (ม.ป.ป). ORIGIN OF THE TINIKLING DANCE. https://shorturl.asia/EgS1A
Legacy. (2561). เครื่องแต่งกายของชาฟิลิปปินส์ ตอนที่ 2. https://shorturl.asia/6KYeA

แชร์ 4904 ผู้ชม

ดนตรี การละเล่น ศิลปะพื้นบ้าน

องค์ความรู้